วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม



กุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งหลวง เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่ชาวไทยรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นกุ้งท้องถิ่นแถบเอเชียใต้ถึงตะวันออกเฉียงใต้ และเรามีการเพาะเลี้ยงมาอย่างยาวนาน แต่เนื่องจากว่าตลาดกุ้งก้ามกราม มีลักษณะเฉพาะตัวอยู่ที่ขายตามเพศ อายุ โครงร่าง ขนาด และอื่นๆ จึงมีข้อจำกัดในการจัดการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม ประกอบกับการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามต้องใช้พื้นที่ในเขตเกษตรกรรมน้ำจืด ซึ่งมีการเกษตรอื่นหลากหลายอยู่แล้ว และผลตอบแทนโดยเฉลี่ยไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับกุ้งกุลาดำ (ทั้งขั้นตอนการผลิตและการตลาด) และได้เกิดช่วงอุปสรรคบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดการชะงักในกระบวนการพัฒนาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ปัจจุบันภาวะที่ "กุ้ง" ได้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวเด่นของโลกไปแล้ว ด้วยมูลค่าตลาดจากต้นทางถึงผู้บริโภครวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท อีกทั้ง ประชากรโลกนิยมบริโภคสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีตลาดผู้บริโภคกุ้ง หลากหลายสายพันธุ์ ประเทศผู้ผลิตกุ้งส่งออกจึงแสวงหา และศึกษาวิจัยการผลิตกุ้งสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในทางธุรกิจมากขึ้น
กุ้งก้ามกราม ในฐานะกุ้งน้ำจืด ตัวเด่นของภูมิภาคเอเชียใต้ ก็เป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ถึงปัจจุบัน อินเดีย บังคลาเทศ ได้เริ่มผลิตส่งออกอย่างเป็นรูปธรรมระดับหนึ่ง และไทยเองก็เริ่มมีผู้สนใจ ในกุ้งตัวนี้มากขึ้น และธุรกิจผลิตเชิงพัฒนาการเพื่อการส่งออกได้เริ่มต้นขึ้นบ้างแล้ว
ตนซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำกิจกรรมเครือข่าย "คนไทย-กุ้งไทย" เพื่อร่วมพัฒนา "กุ้งไทย" เร่งด่วนในปี             2544-2545       นี้ โดยเป้าหมายเพื่อเสริม "กุ้งไทย" ให้มีความแข็งแกร่งและก่อผลประโยชน์แก่ "คนไทย" อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน มีความเห็นว่า เราสามารถร่วมพัฒนาการผลิตกุ้งก้ามกราม เพื่อการส่งออกอย่างเป็นระบบได้ จึงได้ทำการสำรวจศึกษาและติดตามข้อมูลการเพาะเลี้ยงมาเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนได้สรุป "ข้อมูลศึกษาเชิง วิเคราะห์เรื่อง การผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออก" ฉบับนี้ขึ้น และเสนอต่อเกษตรกร บุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อการร่วมพัฒนาการผลิตกุ้งก้ามกรามในการส่งออก ให้ก้าวหน้าสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มการพัฒนาต่อเนื่อง
1.เงื่อนไขจำเพาะ
กุ้งก้ามกราม แม้จะเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่อาจเปรียบเทียบกับกุ้งทะเล คือ กุ้งกุลาดำ ซึ่งเราได้เพาะเลี้ยงจนเป็นสายพันธุ์ในอุตสาหกรรมกุ้งไทยไปแล้ว จนดูเหมือนว่า กุ้งก้ามกรามน่าจะเป็นที่สนใจ และพัฒนาผลิตเป็น กุ้งส่งออกเชิงอุตสาหกรรมได้ง่าย แต่เมื่อศึกษารายละเอียดเจาะลึก จะเห็นได้ว่ากุ้งก้ามกรามมีเงื่อนไขจำเพาะหลายประการที่แตกต่างจากกุ้งกุลาดำ และถือเป็นข้อจำกัดต่อการกำหนดรูปแบบงานพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงื่อนไข
1.1 ความแตกต่างด้านขนาดและโครงร่างในผลผลิต
โดยปกติทั่วไป กุ้งขนาดใหญ่ทุกชนิด เพศเมียจะโตกว่าเพศผู้ เช่น กุ้งกุลาดำ หรืออย่างน้อยก็มีขนาดใกล้เคียงกัน เช่น กุ้งขาว แต่กุ้งก้ามกรามมีข้อแตกต่างตรงที่ กุ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมียมาก โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยงถึงระยะสมบูรณ์พันธุ์ที่ 6เดือนขึ้นไป อีกทั้งในฝูงที่ผลิตได้ยังมีลักษณะโครงร่างแยกแยะแตกต่างกันไปอีก คือ
กุ้งเพศผู้ที่เป็นกุ้งเนื้อขนาดใหญ่ เรียกว่า กุ้งใหญ่ (และมีชื่อแบ่งย่อยต่างๆ)
กุ้งเพศผู้ที่เป็นกุ้งเนื้อขนาดรอง เรียกว่า กุ้งกลาง
กุ้งเพศผู้ที่เป็นนักเลงคุมฝูง เรียกว่า กุ้งก้ามโต
กุ้งเพศเมียสมบูรณ์พันธุ์ เรียกว่า กุ้งนาง
กุ้งเพศเมียระยะฟักไข่(ไข่หน้าท้อง) เรียกว่า แม่กุ้งหรือกุ้งไข่
กุ้งแคระแกรน เรียกว่า กุ้งจิ๊กโก๋หรือหางกุ้ง
ซึ่งแต่ละชนิดจะมีโครงร่าง ความสวยงามและอัตราส่วนเนื้อต่อตัวกุ้งที่แตกต่างกัน จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้วิธีการและราคาจำหน่ายมีหลากหลายต่างกัน ซึ่งคุณลักษณะข้อนี้ทำให้เกิดอุปสรรคด้านตลาดผลผลิตมาโดยตลอด
1.2 ความนิยมของผู้บริโภคจำเพาะที่โครงร่างและขนาด
ตลาดผู้บริโภคกุ้งก้ามกราม โดยปกติจะนิยมบริโภคกุ้งขนนาดใหญ่ที่มีโครงร่างสวยงาม จึงทำให้กุ้งเนื้อตัวผู้ขนาดใหญ่ และขนาดรอง มีราคาต่างกันมากตลอดถึงกุ้งตัวเมียสมบูรณ์พันธุ์ และสุดท้ายคือ กุ้งตัวเมียระยะฟักไข่ หน้าท้อง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด และราคาต่ำมาก เนื่องจากเนื้อน้อย รสชาติไม่ดีพอ
1.3 กุ้งก้ามกรามมีระยะผสมพันธุ์เร็วกว่าระยะจับขาย
เนื่องจากผู้บริโภคต้องการกุ้งขนาดใหญ่ และมีโครงร่างสวย ถือตามเกณฑ์ 70-100 กรัม/ตัว (15-10 ตัว/กก.) ในขณะที่กุ้งนี้เจริญเติบโตได้ช้าในช่วง 3 เดือนแรก จึงจำเป็นต้องเลี้ยงนานกว่า 6 เดือน แต่กุ้งก้ามกรามเริ่ม สมบูรณ์พันธุ์และผสมพันธุ์เร็ว (เพียง 4 เดือน) จึงทำให้เกิดการผสมพันธุ์ วางไข่ก่อนถึงระยะขายเนื้อกุ้ง โดยการเลี้ยงแบบเดิมจะทำให้คุณสมบัติรายตัวของผลผลิตแตกต่างกันมาก (ดังข้อที่ 1.)
1.4 ปริมาณผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ากุ้งกุลาดำ
เนื่องจากกุ้งก้ามกราม ต้องเลี้ยงนานเพื่อให้ได้ไซส์ใหญ่ ประกอบกับโครงร่างที่มีน้ำหนักส่วนของหัว และก้ามมาก จึงเป็นกุ้งเกาะตามพื้นเป็นหลัก อีกทั้ง เป็นกุ้งที่ก้าวร้าวและกินกันเอง เมื่อลอกคราบหรืออ่อนแอ จึงมีข้อจำกัด เรื่องความหนาแน่นในการเลี้ยงช่วงปลาย ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของรอบการผลิตต่ำ เพียงระดับ 300-400 กก./ไร่ ซึ่งต่ำกว่ากุ้งกุลาดำมาก
2.สถานการณ์การผลิตในปัจจุบัน
การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ต้องใช้พื้นที่ราบในเขตเกษตรกรรมน้ำจืดที่ดินมีคุณสมบัติเก็บน้ำได้ดี จึงนิยมเลี้ยงเฉพาะในบริเวณส่วนที่ราบลุ่มภาคกลาง และบางบริเวณของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเฉพาะในส่วนใกล้ แม่น้ำหรือคลองชลประทาน โดยใช้วิธีผลิตเชิงประสบการณ์ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องช้า จึงได้ผลผลิตค่อนข้างคงที่ ที่ระดับผลผลิตรวมประมาณ 25,000-30,000 ตัน/ปี ซึ่งในระยะก่อนปี 2540
ีข้อจำกัดเรื่องราคาและการเสียหายในขั้นตอนการเพาะเลี้ยง จนถึงหลังปี 2540 ที่ราคาสูงขึ้นบ้างตามราคากุ้งกุลาดำ ก็เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาเพิ่มขึ้น และเริ่มมีการส่งออกบ้าง แต่มีพื้นที่การเลี้ยงกุ้งบางส่วนที่ถูกปรับไป เลี้ยงกุ้งกุลาดำ ถึงปี 2544 จากปัญหามาตรา 9 จึงเริ่มมีการกลับเข้ามาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพิ่มขึ้นอีก จนระบบตลาดภายในรองรับไม่ทัน และเกิดภาวะราคาต่ำลงในปัจจุบัน
3.ปัญหาปัจจุบัน
3.1 ใช้วิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ซึ่งหลายส่วนถือเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่สำคัญ คือ
- ขาดการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จากอดีตที่เคยใช้พันธุ์กุ้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ปัญหานี้มีน้อย แต่เมื่อพันธุ์กุ้งธรรมชาติลดลงและต้องกลับมาใช้แม่พันธุ์จากบ่อดิน ปรากฏว่าผู้เพาะเลี้ยงไม่เคร่ง ครัดในการคัดแยกสร้างแปลงพันธุ์ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง (ส่วนใหญ่เพียงแต่นำแม่พันธุ์ที่มีไข่หน้าท้องตามระยะที่ต้องการจากบ่อดินทั่วไปมาใช้งานเป็นหลัก)
- นิยมเลี้ยงรวมฝูงคละเพศ การเลี้ยงในลักษณะดังกล่าว ทำให้อัตราส่วนกุ้งอุ้มไข่หน้าท้องและจิ๊กโก๋ครองฝูงสูงกว่าที่ควร
- การใช้วิธีคราดจับเป็นระยะ การเลี้ยงรวมฝูง และคราดจับเป็นระยะเพื่อเลือกตัวเมียออก หรือคัดตัวใหญ่ขาย นอกจากเสียโอกาสทางธุรกิจที่ขายกุ้งไซส์หัวก่อนกำหนดแล้วยัง ทำให้สภาพแวดล้อมในบ่อเปลี่ยนแปลงหรือ ไม่เหมาะสม เพราะการคราดจับแต่ละครั้ง ทำให้ตะกอนขี้กุ้งและสารอินทรีย์พื้นบ่อฟุ้งกระจายได้ง่าย ส่งผลให้เกิดปัญหากุ้งเครียด ป่วยเสียหาย
- วิธีการผสมยาลงในอาหารกุ้ง จากการคราดจับเป็นระยะ ทำให้จำเป็นต้องใช้ยาผสมอาหารให้กุ้งกินในช่วงปลายรอบการผลิต จึงเกิดปัญหามียาตกค้างในเนื้อกุ้งได้ง่าย อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาต่อเนื่องด้านการตลาด ทั้งตลาดภายในและส่งออก
3.2 ระบบการผลิตและตลาดที่ไม่สอดคล้องกัน
เนื่องจากการผลิตกุ้งก้ามกรามเชิงธุรกิจอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตที่เหมาะสม พร้อมการพัฒนาด้านการตลาดที่สอดคล้องกัน ทั้งสอดคล้องกับแผนการผลิต และสอดคล้องหรือสมดุลระหว่างตลาดส่งออก และตลาดภายในประเทศ ตามข้อจำกัดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกโดยเฉพาะส่วนผลผลิตกุ้งที่มีตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ตามข้อจำกัดเฉพาะของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกได้เฉพาะส่วนผลผลิตกุ้งที่มี คุณสมบัติ ตามความต้องการของประเทศผู้ซื้อ โดยส่วนนอกเหนือจากการส่งออกจะต้องมีตลาดภายในรองรับได้อย่างสมดุล
3.3 ปัญหาด้านการตลาด
-ภายใน ความนิยมจำกัดที่โครงร่าง ขนาด เพศ และความมั่นใจในคุณภาพผลผลิต
-ส่งออก มีข้อจำกัดที่คุณภาพและความปลอดภัย (พบยาตกค้างและปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นโทษ)
4.แนวโน้มการพัฒนาต่อเนื่อง
จากการศึกษาติดตามข้อมูลธุรกิจกุ้งกุลาดำเพื่อการส่งออก ทั้งที่ได้มีการส่งออกลูกพันธุ์กุ้งและกุ้งเนื้อของไทยตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา และข่าวการพัฒนาผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออกของประเทศอินเดีย และบังคลาเทศ มีข้อสรุป ดังนี้
4.1 ไทยซี่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมากพอที่จะพัฒนาผลิตเพื่อการส่งออกได้ เพียงพื้นที่เพาะเลี้ยงเดิมที่ยังคงดำเนินการอยู่และพื้นที่ใหม่บางส่วนที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันก็สามารถพัฒนาสู่การผลิต ผลผลิตกุ้งก้ามกรามได้ถึงระดับ 50,000 ตัน/ปี ภายใน 12-18 เดือน
4.2 หากมีการเร่งรัดพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการคัดเลือกใช้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ การปรับระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำลง พร้อมการพัฒนาระบบตลาดรองรับผลผลิตทั้งตลาด ภายในและตลาดส่งออกที่สอดคล้องกัน จะสามารถผลิตกุ้งก้ามกรามส่งออกได้ต่อเนื่อง ขั้นตอน คือ

ผลผลิตกุ้งหน้าฟาร์ม ประมาณปีละ 60,000 ตัน
ผลิตภัณฑ์ส่งออก ประมาณปีละ 30,000 ตัน
มูลค่าส่งออก ประมาณปีละ 10,500 ล้านบาท
แนวทางพัฒนาการผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออก
เนื่องจากการผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออก มีข้อแตกต่างจากการผลิตกุ้งประเภทอื่น ตามข้อจำกัดด้านความนิยมและมูลค่า จึงต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตลูกพันธุ์กุ้ง การเลี้ยงกุ้งเนื้อ และการ จำหน่ายผลผลิตที่สอดคล้องกันระหว่างตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1.การพัฒนาด้านการผลิตลูกกุ้ง
1.1 จำเป็นต้องมีระบบฟาร์มเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กุ้งโดยเฉพาะ โดยการจัดหาสายพันธุ์เพิ่มเติมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ร่วมกับการคัดสายพันธุ์จากฟาร์มเลี้ยงกุ้งเนื้อ โดยมีเป้าหมายลักษณะสายพันธุ์ อาทิ
-โครงสร้างดี ส่วนหัวเล็กลง ส่วนก้ามพอเหมาะ ปล้องลำตัวยาว และมีอัตราส่วนของเนื้อต่อตัวกุ้งสูง
-การเจริญเติบโตดี
-โตเร็วในระยะแรก เพื่อให้ได้ตัวกุ้งที่ระยะสมบูรณ์พันธุ์ขนาดใหญ่กว่าเดิม
-มีความต้านทานต่อโรค สภาวะแวดล้อมหรืออื่นๆ
1.2 ปรับขบวนการเพาะเลี้ยงกุ้ง โดยปรับระบบจัดการด้านสุขาภิบาล ที่เน้นการป้องกันปนเปื้อนพาราสิต และเชื้อโรค และเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพ ให้ได้ลูกกุ้งคุณภาพสูง สมบูรณ์ แข็งแรง ต้นทุนต่ำ
2.การพัฒนาด้านการผลิตกุ้งเนื้อ ิเนื่องจากการผลิตกุ้งเนื้อในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ คือ
2.1 การปล่อยลูกกุ้ง (1.5-2.0 ซ.ม.)ลงเลี้ยงรวมฝูง และเลี้ยงระยะเดียวถึงเริ่มทยอยจับขายที่ 5 เดือน โดยอาจมีการปล่อยหรือไม่ปล่อยเสริมในช่วงคราดจับ (การปล่อยลูกกุ้งเสริมในช่วงคราดจับ แม้จะสามารถเลี้ยงและจับต่อ เนื่องได้นาน แต่จะเป็นอุปสรรคต่อการผลิตส่งออก)
2.2 การปล่อยลูกกุ้ง (1.5-2.0 ซ.ม.) ลงเลี้ยงในบ่ออนุบาลกุ้งจนอายุ 2.5-3 เดือน (5.0-8.0 ซ.ม.) และนำไปเลี้ยงต่อในบ่อเลี้ยงกุ้งเนื้อ โดยมีทั้งแบบเลี้ยงแยกเพศและเลี้ยงคละเพศ เมื่อได้ทำการศึกษาตามข้อมูลการเลี้ยงแล้ว มีข้อสรุปที่น่าสนใจคือ ระบบการเลี้ยงที่สามารถดำเนินการได้สะดวก ให้ผลผลิตดี ความเสี่ยงต่ำ และต้นทุนต่ำ เหมาะสมต่อการผลิตเพื่อส่งออก ควรมีแนวทางการเลี้ยงดังนี้

หลักการ
-ทำการเลี้ยงเป็น 2 ระยะ คือ ระยะอนุบาลและระยะเลี้ยงกุ้งเนื้อ
-ในระยะเลี้ยงกุ้งเนื้อ ควรเลี้ยงแบบแยกเพศ (ตัวผู้ ตัวเมีย แยกจากกัน)
-จับออกเป็นชุดตามที่ตลาดต้องการ
ระบบการเลี้ยงดังกล่าว ได้มีข้อมูลจากกการศึกษาของฟาร์มสามแม่น้ำรีสอร์ต เป็นข้อมูลขั้นต้น ดังนี้
วิธีการ
-ปล่อยกุ้งในบ่ออนุบาลที่ขนาด 1.5-2.0 ซ.ม. (กุ้งคว่ำ 5-7 วัน)
-เลี้ยงอนุบาลในระยะเวลา 75-90 วัน
-คัดแยกเพศก่อนถึงระยะผสมพันธุ์ (ก่อนระยะมีตัวอ่อนอุ้มไข่หน้าท้อง)
-ย้ายเลี้ยงต่อในบ่อเลี้ยงกุ้งเนื้ออีก 90-100 วัน
-จำหน่ายผลผลิต *กุ้งตัวเมียที่ไซส์ 20 ตัว/กก. ( 50กรัม/ตัว) *กุ้งตัวผู้ที่ไซส์ 10-12 ตัว/กก. (80-100 กรัม/ตัว)
-ผลผลิตกุ้งเนื้อต่อไร่ เฉลี่ย 320-400 กก./ไร่/รอบ
-ผลผลิตกุ้งเนื้อต่อปี (2.5 รอบ) เฉลี่ย 800-1,000 กก./ไร่/ปี
3.การพัฒนาด้านการตลาด
เนื่องจากมูลค่ากุ้งก้ามกรามที่ขึ้นกับเพศ โครงร่างและขนาด แต่ละตลาดอาจจะนิยมแตกต่างกัน ดังนั้น การพัฒนาตลาดรองรับผลผลิตกุ้งก้ามกราม จึงต้องมีการพัฒนาที่สอดคล้องกัน ทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ จากผลการศึกษาข้อมูล มีข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
3.1 ด้านตลาดส่งออก
*ส่งออกกุ้งเป็นขนาดใหญ่ 10-12 ตัว/กก. สู่ตลาดประเทศใกล้เคียง เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์และเกาหลี (ตลาดเหล่านี้ พร้อมรับกุ้งที่ขนาดใหญ่กว่า 10 ตัว/กก. และที่ 15-20 ตัว/กก.)
*ส่งออกกุ้งแปรรูปขนาดใหญ่ 10-15 ตัว/กก. สู่ตลาดทั่วไป
*ส่งออกกุ้งแปรรูปขนาดกลาง 15-20 ตัว/กก. สู่ตลาดทั่วไป
3.2 ด้านตลาดภายในประเทศ
*จำหน่ายกุ้งเป็นเพศผู้ขนาดใหญ่ 10-12 ตัว/กก.
*จำหน่ายกุ้งเป็นเพศผู้ขนาดกลาง 13-15 ตัว/กก.
*จำหน่ายกุ้งขนาดเล็กหรือที่นอกเหนือจากตลาดส่งออก
ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่พร้อม ในการส่งออกต่างประเทศจำเป็นต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ
-ผลผลิตกุ้งคุณภาพ สะอาด ปลอดยาตกค้าง ไม่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นโทษเกินมาตรฐาน
-โครงร่างสวย ไม่มีตำหนิ (เช่น หางกร่อน หนวดขาด ระยางค์ไม่ครบ)
-รสชาติตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นโคลน อื่นๆ
-จับด้วยวิธีที่เหมาะสม มีระยะพักกุ้งหลังจับ และปรับลดอุณหภูมิตามวิธีการมาตรฐาน
ข้อมูลศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออก
จากที่ตนมีโอกาสร่วมศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของคุณสุชาติ ผดุงกุล แห่งฟาร์มสามแม่น้ำรีสอร์ต อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ทำให้มั่นใจว่า แนวทางดังกล่าว จะเป็นแนวทางเหมาะสมมาก
สำหรับการผลิตกุ้งก้ามกรามเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน จึงขอสรุปเป็นข้อมูลเพื่อร่วมพัฒนาการผลิตต่อเนื่อง ดังนี้
1. การผลิตลูกกุ้ง
-แหล่งพันธุ์ ใช้พ่อพันธุ์จากธรรมชาติ ร่วมกับแม่พันธุ์จากระบบฟาร์ม โดยการคัดเลือกเฉพาะกุ้งตัวเมียที่โตเร็ว ลักษณะดี และถ้าเป็นไปได้ควรแยกเลี้ยงในย่อกุ้งพันธุ์โดยเฉพาะ
-อายุแม่พันธุ์ 6 เดือนขึ้นไป หรือน้ำหนักขั้นต่ำ 35 กรัม/ตัว (โดยทั่วไปมีการใช้แม่พันธุ์3.5 เดือนขึ้นไป หรือน้ำหนักขั้นต่ำที่ 20 กรัม/ตัว)
-อนุบาลลูกกุ้ง ที่ระดับ 100,000 ตัว/ลบ.ม.
-อาหารอนุบาลลูกกุ้ง คือ อาร์ทีเมีย ไข่ตุ๋น อาหารสำเร็จรูปสำหรับอนุบาลลูกกุ้งวัยอ่อน
-ระยะกุ้งคว่ำ ควรอยู่ที่ 15-18 วัน
-จำหน่ายหรือย้ายลงบ่ออนุบาลกุ้งเนื้อ ที่หลังกุ้งคว่ำ 7 วัน โดยการปรับความเค็มน้ำ สู่ระดับความเค็ม 3 พีพีที หรือปรับจนเป็นน้ำจืดตามความเหมาะสม (ถ้าความเค็มเกิน 3 พีพีที ควรนำไปปล่อยแบบกั้นคอก)
-ตลอดระยะอนุบาล เน้นหลักการชีวภาพ โดยควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยการจัดการด้านการให้อาหารที่เหมาะสม การดูดตะกอน การถ่ายน้ำ
-อัตรารอดถึงระยะขาย ประมาณ 60-70%
2. การอนุบาลกุ้งเนื้อในบ่อนุบาล
-ปล่อยอนุบาลขั้นที่ 1 อัตรา150,000-200,000 ตัว/ไร่ และแบ่งเฉลี่ยที่บ่ออนุบาลขั้นที่2 ที่อายุกุ้งประมาณ 1 เดือน หรือขนาด 1,000 ตัว/กก. อัตรา 40,000-50,000 ตัว/ไร่ ( ถ้ากรณีอนุบาลระยะเดียว ควรปล่อยที่ระดับ 100,000 ตัว/ไร่)
-เลี้ยงลูกกุ้งด้วยการเตรียมอาหารธรรมชาติเสริมและเลี้ยงต่อด้วยอาหารกุ้งกุลาดำ ในระยะ 2 เดือนแรก โดยเริ่มจาก 1 กก./100,000 ตัว/วัน และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามเงื่อนไขความสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ พฤติกรรมการกินอาหารและการเจริญเติบโต
-เมื่อกุ้งอายุประมาณ 75-90 วัน จะทำการย้ายกุ้งจากบ่ออนุบาลกุ้งเนื้อสู่บ่อเลี้ยงกุ้งใหญ่ โดยการคราดจับด้วยอวนขนาดตา 1.5-2.0 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มแยกเพศกุ้งตัวเมียและตัวผู้ได้ โดยการสังเกตความเข้มที่สีของหัวกุ้ง (กุ้งตัวเมียจะมีสีลักษณะไข่อ่อนเข้มแดงจัดกว่าตัวผู้) ทั้งนี้ ต้องงดอาหารก่อนย้าย
3. การเลี้ยงกุ้งเนื้อในบ่อเลี้ยงกุ้งใหญ่ แนวทางที่ประหยัดและเหมาะสมของการจัดระบบเลี้ยงกุ้งใหญ่ คือ การเลี้ยงในลักษณะลู่น้ำเวียน โดยมี 2 แบบ คือ
3.1 การเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยเฉพาะ โดยการสร้างบ่อรูปผืนผ้าทรงยาว ด้านกว้างประมาณ 20-30 เมตร โดย
"ด้านหัวและท้ายบ่อมีร่องน้ำผ่านที่น้ำสามารถไหลเวียนต่อเนื่องสู่บ่อถัดไป น้ำจากบ่อสุดท้ายจะไหลลงสู่บ่อพักและบ่อตกตะกอน แล้วมีการสูบหรือดันน้ำกลับสู่บ่อเลี้ยงบ่อแรกใหม่อีกครั้ง ทำให้น้ำหมุนเวียนต่อเนื่องได้ตลอดเวลาที่ต้องการ"
-การเลี้ยงแบบลู่น้ำเวียนนี้ สามารถดันน้ำให้ไหลผ่านบ่อเลี้ยงตามยาวและไหลต่อเนื่องได้ทั้งชุด ตะกอนและสารอินทรีย์ที่เกิดจากการเลี้ยงส่วนใหญ่ จะไหลลงตกตะกอนและบำบัดในบ่อพักน้ำที่ 1 และ 2 ก่อนสูบกลับไปไหลเวียนรอบใหม่ (สามารถเลี้ยงปลากินพืชในบ่อพักเป็นผลผลิตเสริมได้ด้วย)
-ความหนาแน่นของกุ้งที่ปล่อย ขึ้นกับเป้าหมายขั้นสุดท้ายว่าจะเลี้ยงกุ้งถึงขนาด (ไซส์) เท่าใด ในระยะเวลาเท่าใด (ถ้าปล่อยกุ้งแน่น จะโตช้ากว่ากุ้งบาง) อัตราปล่อยปกติที่กุ้งตัวผู้ 5-7 ตัว/ตร.ม. (8,000-10,000 ตัว/ไร่) และกุ้งตัวเมีย 6-12 ตัว/ตร.ม. (15,000-20,000 ตัว/ไร่)
-ผลการเลี้ยง ขึ้นกับฝีมือการคัดแยกเพศ ถ้าแยกเพศได้ถูกต้องจะทำให้กุ้งนักเลงคุมฝูงในบ่อกุ้งตัวผู้น้อย และกุ้งตัวเมียที่ปลอดตัวผู้จะไม่ถูกผสมและฟักไข่หน้าท้อง จะทำให้ได้กุ้งขนาดใหญ่ตามเป้าหมายมากขึ้น
-ระยะเวลาการเลี้ยงด้วยระบบลู่น้ำเวียนนี้ ใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือน (90-100 วัน) จะได้กุ้งตัวผู้ที่ขนาด 10-12 ตัว/กก. (80-100 กรัม/ตัว) กุ้งตัวเมียที่ 20 ตัว/กก. (50 กรัม/ตัว)
-การให้อาหาร โดยใช้อาหารกุ้งก้ามกรามวันละ 3 มื้อ (เช้ามืด,บ่าย,ค่ำ) เช็คยอประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหากเช็คยอมื้อชนมื้อควรใส่ยอมากและเช็คยอซ้ำ 2 ครั้ง
-อาจมีการถ่ายน้ำกระตุ้นลอกคราบตามความเหมาะสม เช่น ทุก 10-15 วัน
-ก่อนถึงระยะจับขาย จะมีการเสริมอาหารสด (ปลาสด) ตามความจำเป็น (โดยให้ปลาสดแทนอาหารช่วงมื้อบ่าย) และมีการถ่ายน้ำกระตุ้นลอกคราบก่อนการขายเป็นพิเศษ
-ผลผลิตมากกว่า 300 กก./ไร่ อัตราแลกเนื้อ โดยประมาณ 1.5-1.7
3.2 การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเสริมในนาข้าว โดยการสร้างระบบคูลาดเป็นขาวังรอบแปลงนาข้าว ระยะแรกปล่อยกุ้งในเฉพาะขาวัง และปรับน้ำเพิ่มตามการเจริญเติบโตของต้นข้าว

รูปที่3 แนวคิดการทำขาวังในแปลงนาข้าว โดยไม่ต้องเสียพื้นที่ (กลบกลับได้)
- ระยะปล่อยกุ้งในขาวัง ช่วงเริ่มหว่านข้าว น้ำลึก 0.5-0.8 ม. ตามความลึกของขาวัง (ใช้กุ้งแยกหรือรวมเพศหลังอนุบาลที่ 75-90 วัน)
- ระหว่างรอบการเลี้ยง (3 เดือน) น้ำลึก 0.7-1.1 ม. โดยเพิ่มน้ำตามความสูงของต้นข้าว
- การเลี้ยงระบบเสริมนาข้าว ควรปล่อยบาง ระดับ 8,000-12,000 ตัว/ไร่ (และต้องป้องกันศัตรูกุ้งได้ดี เช่น ปลาต่างๆ)
- อาจใช้อุปกรณ์ (ใบพัด) ดันน้ำเวียนเมื่อจำเป็นเช่น ตอนกลางคืน หรือเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงฉับพลัน (ฝนตกหนักหรืออื่นๆ)
- เลี้ยงโดยหว่านอาหารสำเร็จ (กุ้งก้ามกราม) เสริม เช้า-เย็น (หว่านในร่องน้ำเล็กน้อยและเน้นที่ส่วนลาด)
- ผลผลิตที่ได้ คือกุ้งไซส์ใหญ่ โตเร็ว อัตราแลกเนื้อต่ำระดับ 0.5-0.7 เนื่องจากได้อาหารเสริมจากนาข้าว ทั้งนี้ ขึ้นกับความเหมาะสมของดิน ความหนาแน่นของข้าวที่หว่าน และการจัดการเลี้ยงที่เหมาะสม (เลี้ยงกุ้งระบบเสริม นาข้าว มีโอกาสได้กุ้งตัวผู้ไซส์ใหญ่กว่า 10 ตัว/กก.)
เงื่อนไขการผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออก
1. รวมกลุ่มประสานงานใกล้ชิด วางแผนติดต่อระบบตลาดล่วงหน้า ทั้งตลาดส่งออกและตลาดรองรับผลผลิตที่ไม่ตรงตามขนาดส่งออก (ควรรวมเป็นธุรกิจกลุ่ม จากผลิตถึงส่งออก)
2.ผลิตกุ้งคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ โดยปรับระบบการเลี้ยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิต ทั้งการคัดเพศ ความหนาแน่นที่ปล่อยลงเลี้ยง ช่วงเวลาที่เหมาะสมและอื่นๆ
3.ไม่ควรใช้ยา ควรเน้นการจัดการเลี้ยงอย่างดี (อาหารคุณภาพดี ให้อาหารไม่พลาด พื้นไม่เน่า) เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาติดเชื้อที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (เน้นไม่ใช้ยาให้กุ้งกิน เพื่อป้องกันยาตกค้างในเนื้อกุ้ง เพราะกุ้งก้ามกราม เป็นกุ้งเกาะพื้น มีโอกาสสัมผัสยาที่ละลายตกค้างที่พื้นดินได้ง่าย และยาบางชนิดต้องใช้ช่วงเวลาในการสลายตัว) หากจำเป็นต้องใช้ยาก็ควรใช้ในช่วงที่แน่ใจว่ามีระยะการหยุดยานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป และโปรดอย่าลืมว่า เราไม่ใช้ยาคลอแรมเฟนนิคอลในกระบวนการเพาะเลี้ยงกุ้งโดยเด็ดขาด
4.ปรับเทคนิคการเลี้ยง ให้ได้ผลผลิต คุณภาพ ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ให้สามารถได้ตัวเมียขนาดโตขึ้น เพื่อให้ได้ราคากุ้งตัวเมียสูงกว่าเดิม และต้องหาวิธีการผลิตที่ลดต้นทุนลง
หมายเหตุ สำหรับบ่อเลี้ยงดั้งเดิม สามารถปรับปรุงระบบการผลิตได้ตามความเหมาะสม เช่น
-เพิ่มอุปกรณ์เคล้าน้ำ (ใบพัดตีน้ำ หรือใบพัดใต้น้ำ) เพื่อปรับใช้ตามความจำเป็น
-ใช้อวนมุ้งฟ้ากั้นส่วนผิวน้ำ 10-20 ซม. เพื่อบังคับแนวน้ำให้หมุนเวียนและเคล้าทั่วบ่อ
-เน้นการเลี้ยงแบบแยกเพศ (และควรใช้กุ้งที่ผ่านอนุบาลแล้ว 75-90 วัน) โดยสร้างบ่ออนุบาลและใช้งานร่วมกัน
-ใช้อาหารคุณภาพดี ที่สามารถคุมอัตราแลกเนื้อให้ต่ำกว่า 2.0 ได้
-เลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่ ที่คุณภาพสูง ปลอดยา เพื่อให้สามารถส่งออกได้ด้วย
ที่มา : นิตยสารเพื่อนชาวกุ้ง ฉบับ มีนาคม 2545


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น