วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนของเกษตรกรปีเพาะปลูก 2543/44

การผลิตข้าวโพดฝักอ่อนของเกษตรกรปีเพาะปลูก 2543/44


 
วิจัย      นายอนุสรณ์ พรชัย
สังกัด    กลุ่มการจัดการฟาร์ม
            ส่วนวิจัยครัวเรือนเกษตรการจัดการฟาร์มและปัจจัยการ
            ผลิตสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
 
โทร.       02 – 579-2982  02 – 579-2982
 
โทรสาร   02 – 579-7564
     
Email    anusorn@oae.go.th        
  
การศึกษาการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนของเกษตรกรปีเพาะปลูก 2543/44 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการที่เกษตรกรปฏิบัติในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนในปัจจุบัน ต้นทุนและผลตอบแทน ตลอดจนคาดประมาณสมการการผลิตและวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญได้แก่ ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สระบุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร
 
ผลการศึกษาปรากฏว่า พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งหมดมีการเตรียมดิน โดยใช้เครื่องจักร 2 ครั้ง ส่วนใหญ่มักใช้คนปลูกโดยวิธีการขุดหลุมด้วยจอม/ไม้กระทุ้งหลุม บางส่วนใช้ผานหัวหมูติดรถไถเดินตามไถแถกร่อง แล้วหยอดเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อหลุม อัตราใช้ประมาณ 3.9 กิโลกรัมต่อไร่ มีการใส่ปุ๋ย 2 ครั้งเฉลี่ย 74 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 533 บาทต่อไร่ สูตรปุ๋ยเคมีที่ใส่มากที่สุดได้แก่ สูตร 46-0-0 (ยูเรีย) มีการกำจัดวัชพืชโดยพ่นยาหลังหยอดเมล็ดภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการป้องกันโรคแมลง เนื่องจากไม่มีโรคแมลงรบกวน ให้น้ำตลอดช่วงการเพาะปลูกเฉลี่ย 10 ครั้ง เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ เกษตรกรถอดยอดหรือดึงช่อดอกตัวผู้ออกทุกต้น เมื่ออายุ  40-45 วัน หลังจากนั้นถึงทำการเก็บเกี่ยวใช้เวลา 5-10 วันต่อรุ่น
  
ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 2,897 บาทต่อไร่ เป็นเงินสด 1,734 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ไม่เป็นเงินสด 1,163 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ต้นทุนรวมต่อกิโลกรัม 1.94 บาท ราคาขายเฉลี่ย 2.22 บาทต่อกิโลกรัม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,492 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 3,308 บาทต่อไร่ รายได้อื่น 109 บาท รายได้รวม 3,417 บาทต่อไร่ เป็นกำไรสุทธิ 520 บาทต่อไร่ เมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิต อยู่ระหว่าง 2,598 – 4,042 บาทต่อไร่ โดยจังหวัดนครปฐมสูงสุด และกำแพงเพชรต่ำสุด ผลผลิตอยู่ระหว่าง 1,100 - 1,602 กิโลกรัมต่อไร่ จังหวัดราชบุรีต่ำสุด และสุพรรณบุรีสูงสุด กำไรสุทธิ 27 – 831 บาทต่อไร่ โดยจังหวัดนครสวรรค์ต่ำสุด และสระบุรีสูงสุด
 
จากสมการการผลิตพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่กำหนดผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อนได้แก่ ที่ดิน เนื้อธาตุปุ๋ยไนโตรเจน แรงงานคนและเครื่องจักร และจำนวนเมล็ดพันธุ์ โดยมีผลตอบแทนต่อขนาดการผลิตใกล้เคียงกับแบบผลตอบแทนต่อขนาดคงที่ กล่าวคือมีผลรวมของความยืดหยุ่นเท่ากับ 1.06 การใช้ปัจจัยเพื่อให้มีความเหมาะสมในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจัยที่ควรใช้เพิ่มได้แก่ พื้นที่ปลูกขึ้น (ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเกษตรกรเองได้แก่ เงินทุน แรงงาน เป็นต้น) เมล็ดพันธุ์ ส่วนปัจจัยที่ควรลดคือ แรงงาน อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถลดได้ควรใช้แรงงานของตนเอง ส่วนปริมาณเนื้อธาตุปุ๋ยไนโตรเจนนั้นเกษตรกรใช้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับความเหมาะสมเชิงเศรษฐกิจแล้ว
ข้อเสนอแนะ พบว่าเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นของเอกชนทั้งสิ้นและมีราคาสูง เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกและลดต้นทุนการผลิต ภาครัฐควรส่งเสริมให้กรมวิชาการเกษตรผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้แก่สมาชิก เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรดินให้คงความอุดมสมบรูณ์และสามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน รัฐต้องดำเนินงานอย่างจริงจังในอันที่จะทำให้เกษตรกรปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยเคมีมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิต แต่เป็นปัจจัยที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาปัจจัยจากต่างประเทศรวมทั้งเป็นการประหยัด รัฐต้องส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงโดยหันมากใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสดทดแทน บางจังหวัดมีรายได้จากการขายฝักเพียงอย่างเดียวในขณะที่บางจังหวัดสามารถขายต้นและเปลือกได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ต้องสูญเสียต้นและเปลือก ควรส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ที่สามารถใช้ต้นและเปลือกเป็นอาหาร หรือนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักเพื่อในกลับไปใส่ทดแทนปุ๋ยเคมี

สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กทม. 10900 โทร. 0-2940-5550 - 1, 0-2940-5553 - 4, 0-2940-5556 - 9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น